สแตนเลส คืออะไร?

สแตนเลส หรือเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel) คือโลหะผสม (Alloy) ที่มีส่วนประกอบหลักคือ เหล็ก และโครเมียม อย่างน้อย 10.5% ของน้ำหนัก และต้องมีคาร์บอนน้อยกว่า 1.2% อาจมีการเติมสารชนิดอื่น ๆ เช่น นิเกิล แมงกานีส ทองแดง โมลิบดินั่ม อลูมิเนียม ฯลฯ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของสแตนเลสให้เหมาะกับการใช้งานแบบต่าง ๆ โดยคุณสมบัติหลักของสแตนเลสสตีล คือ ไม่เกิดสนิม ทนความชื้น ทนต่อการกัดกร่อนนั่นเอง

สแตนเลส สามารถปรับปรุงคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อน และสมบัติอื่น ๆ ที่ต้องการ ให้สูงขึ้นได้โดยการเพิ่ม ส่วนผสมของโครเมียม และเพิ่ม ธาตุอื่น ๆ เช่น โมลิบดิบนัม นิกเกิลและไนโตรเจนเข้าไป สแตนเลส มีอยู่มากกว่า 60 ชนิด

ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร เช่น ยากต่อการขึ้นสนิมเมื่อเทียบกับโลหะ หรือวัสดุชนิดอื่น ๆ ค่าบำรุงรักษาต่ำ ง่ายต่อการเชื่อม และการขึ้นรูป ระยะเวลาการใช้งานคุ้มค่ากับราคา และสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ทั้งหมด จึงทำให้สแตนเลส เป็นโลหะที่ทรงคุณค่า คุณสมบัติ และประโยชน์ใช้สอยที่ไร้ขีดจำกัด

ประเภทของสแตนเลส

  • เกรดออสเตนิติก (Austenitic)

แม่เหล็ดดูดไม่ติด นอกจากส่วนผสมของโครเมียม 18% แล้ว ยังมีนิเกิลที่ช่วยเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนอีกด้วย ชนิดออสเตนิติกเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางมากที่สุด ในบรรดาสแตนเลสด้วยกัน ส่วนออสเตนิติกที่มีโครเมียมผสมอยู่สูง 20%-25% และนิกเกิล 1-20% จะสามารถทนการเกิดออกซิไดซ์ได้ที่อุณหภูมิสูง ซึ่งใช้ในส่วนประกอบของเตาหลอม ท่อนำความร้อน และแผ่นกันความาร้อนในเครื่องยนต์ จะเรียกว่า เหล็กกล้าไร้สนิม ชนิดทนความร้อน (Heat Resisting Steel)

  • เกรดเฟอร์ริติก (Ferritic)

แม่เหล็กดูดติด มีส่วนผสมของคาร์บอนต่ำ และมีโครเมียมเป็นส่วนผสมหลัก คือประมาณ 13% หรือ 17%

  • เกรดมาร์เทนซิติก (Martensitic)

แม่เหล็กดูดติด โดยทั่วไปจะมีโครเมียมผสมอยู่ 12%และมีส่วนผสมของคาร์บอนในระดับปานกลาง มักนำไปใช้ทำส้อม มีด เครื่องมือตัด และเครื่องมือวิศวกรอื่น ๆ ซึ่งต้องการคุณสมบัติเด่นในด้าน การต้านทานการสึกกร่อน และ ความแข็งแรงทนทาน

  • เกรดดูเพล็กซ์ (Duplex)

แม่เหล็กดูดติด มีโครงสร้างผสมระหว่างเฟอร์ไรต์และออสเตไนต์ มีโครเมียมผสมอยู่ประมาณ 18-28% และนิเกิล 4.5-8% เหล็กชนิดนี้มักถูกนำไปใช้งานที่มีคลอรีนสูงเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกัด กร่อนแบบรูเข็ม (Pitting corrosion) และช่วยเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน ที่เป็นรอยร้าวอันเนื่องมาจากแรงกดดัน (Stress corrosion cracking resistance) เหล็กกล้าชุบแข็งแบบตกผลึก (Precipitation Hardening Steel) มีโครเมียมผสมอยู่ 17% และมีนิเกิล ทองแดง และไนโอเบียมผสมอยู่ด้วย เนื่องจากเหล็กชนิดนี้สามารถชุบแข็งได้ในคราวเดียว จึงเหมาะสำหรับทำแกน ปั้ม หัววาล์ว และส่วนประกอบของอากาศยาน สแตนเลสสตีล ที่นิยมใช้ทั่วไป คือ ออสเตนิก และเฟอร์ริติก ซึ่งคิดเป็น 95% ของเหล็กกล้าไร้สนิม ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน


ผิวสำเร็จชนิดต่าง ๆ ของสแตนเลส มีอะไรบ้าง?

No.1 ผิวขรุขระเล็กน้อย สีออกเทาด้าน เป็นผิวของท่อสแตนเลสด้านอุตสาหกรรม ผิวสแตนเลสฉากรีด และแผ่นสแตนเลสที่หนากว่า 3mm ขึ้นไป
2D (No.2D) ผิวเรียบ สีออกเทาเงินอ่อนลงเล็กน้อย เกิดจากการนำแผ่นสแตนเลสไปรีดเย็น อบอ่อน และกัดด้วยกรด มักไม่นิยมนำมาใช้งานเท่าผิวสแตนเลสอื่น ๆ
2B (No.2B) ผิวเรียบ สีออกเงินค่อนข้างเงา สะท้อนแสงได้ดี (แต่ไม่เงาเท่าผิว Mirror) เกิดจากการนำแผ่นไปรีดเย็น อบอ่อน และกัดกรด ก่อนนำไปรีดเบาด้วยลูกกลิ้งขัด เป็นพื้นผิวยอดนิยมจำพวกท่อสแตนเลสเงาเฟอร์นิเจอร์ และแผ่นสแตนเลสที่มีความหนาน้อยกว่า 3mm
BA (No.2BA) ผิวเรียบ สีออกเงินและเงายิ่งขึ้น สะท้อนแสงได้ 50-55% (ยังไม่เงาเท่าผิว Mirror) คล้ายการผลิตแบบผิว 2B แต่นำไปผ่านกระบวนการขัดขึ้นเงาด้วยลูกกลิ้งขัดเป็นลำดับสุดท้าย

ผิว BA นี้คือผิวที่ดีที่สุดที่จะทำได้ด้วยกระบวนการ Mill finish (จบการผลิตด้วยการรีดกลึง) ซึ่งหลังจากนี้จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการ Polish finish (จบการผลิตด้วยการขัดผิว) เพื่อให้แผ่นสแตนเลสเป็นลวดลายที่ต้องการหรือเพิ่มความเงาสะท้อนแสงให้มากขึ้นไปอีก

No.4 ผิวเรียบมีลายขนแมวขนาดใหญ่ดูหยาบ สีออกเงินค่อนข้างเงา เกิดจากการนำสแตนเลสผิว 2B มาขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 150-180
No.4 Hairline ผิวเรียบมีลายขนแมวละเอียด เรียงตัวสวย สีออกเงินค่อนข้างเงา เป็นแบบพื้นผิวยอดนิยม เกิดจากการนำสแตนเลสผิว 2B มาขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 180-300 หรือตามความเหมาะสม
Mirror (No.8 หรือ No.12) ผิวเรียบ สีเงินและเงาที่สุดราวกับกระจกเงา เกิดจากการนำสแตนเลสผิว BA มาเข้ากระบวนการขัดละเอียดสูง ได้แก่ขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 1000ขึ้นไป ตามด้วยการขัดด้วยขนสัตว์, ผงอลูมิเนียม, โครเมียมออกไซด์

ประเภทของอัลลอยล์

  • เบอร์ 304 เป็นสแตนเลสสตีลพื้นฐานที่ใช้ในการตกแต่งเพื่อความสวยงาม ชนิดนี้ง่ายต่อการขึ้นรูป และป้องกันการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี
  • เบอร์ 304L เป็นสแตนเลสสตีลเบอร์ 304 ที่ใช้คาร์บอนเป็นส่วนประกอบน้อยลงมา ใช้ในงานการเชื่อมอย่างกว้างขวาง
  • เบอร์ 316 ถูกออกแบบให้มาป้องกันการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี ถูกใช้ในงานอุตสาหกรรมหนัก และสถานที่ใกล้ทะเล
  • เบอร์ 316L เป็นสแตนเลสสตีลเบอร์ 316 ที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนน้อยลงมา
  • เบอร์ 430 เป็นสแตนเลสสตีลที่ใช้โครเมี่ยมเป็นส่วนประกอบ 100% และมีโอกาสเกิดสนิมน้อยกว่าเบอร์ 300 พวกนี้นิยมใช้ตกแต่งภายใน

ประโยชน์ของการใช้งานสแตนเลส

  • ใช้ในสิ่งแวดล้อมที่กัดกร่อน (Corrosive Environment)
  • งานอุณหภูมิเย็นจัด ป้องกันการแตกเปราะ
  • ใช้งานอุณหภูมิสูง (High temperature) ป้องกันการเกิดคราบออกไซด์ (scale) และยังคงความแข็งแรง
  • มีความแข็งแรงสูงเมื่อเทียบกับมวล (High strength vs. mass)
  • งานที่ต้องการสุขอนามัย (Hygienic condition) ต้องการความสะอาดสูง
  • งานด้านสถาปัตยกรรม (Aesthetic appearance) ไม่เป็นสนิม ไม่ต้องทาสี
  • ไม่ปนเปื้อน (No contamiation) ป้องกันการทำ ปฏิกิริยากับสารเร่งปฏิกิริยา
  • ต้านทานการขัดถูแบบเปียก (Wet abrasion resistance)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *